banner.gif
ท่าทางการขับขี่ (Riding Posture) ที่ถูกต้อง

ท่าทางการขับขี่ (Riding Posture)ที่ถูกต้อง  

 
ก่อนที่จะออกรถหรือขับขี่กันจริงๆต้องพูดถึง “ท่าทางการขับขี่” ที่ถูกต้องกันก่อน เพราะมันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้สามารถควบคุมรถได้ง่ายและปลอดภัยขึ้นในทุกๆสภาวะ โดยจะมีที่สังเกตอยู่ 7 จุดด้วยกันคือ

 Geek สายตา จะต้องมองไปข้างหน้าและกวาดสายตาไปเป็นมุมกว้างที่สุด สังเกตความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่ามองเพียงจุดใดจุดหนึ่ง
 Wink ไหล่  ไม่เกร็งเพราะจะทำให้การบังคับควบคุมไม่ดี ให้ปล่อยไปตามธรรมชาติ
 Hug แขน  ปล่อยตามธรรมชาติไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป ข้อศอกไม่กาง
 Clap มือ จับตรงบริเวณกึ่งกลางปลอกแฮนด์ ข้อมืออยู่ในแนวเดียวกับแขน อย่าจับในลักษณหักข้อมือ
 Big smile สะโพก  นั่งให้ได้ตำแหน่งพอดีกับการควบคุม ไม่เกร็ง ปล่อยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวรถ
 Thumbs Up เข่า  หันไปทางด้านหน้ารถ ไม่กางออก หนีบถังน้ำมันให้กระชับเพื่อความมั่นคง
 Embarrassed เท้า  วางบนพักเท้าอย่างมั่นคงปลายเท้าชี้ไปข้างหน้าและวางอยู่บนคันเกียร์และแป้นเบรค

สำหรับท่าทางการขับขี่แบบชูคอ มือตั้ง หลังตรง เข่ากาง เท้าชี้พื้น ไม่อยู่ในสาระบบของการขับขี่แบบนักเลงมอเตอร์ไซค์ ส่วนการออกรถมือใหม่ที่ไม่เคยขี่รถคลัทช์มือมาก่อนมักจะ “ตั้งใจ” ในการใช้คลัทช์มากเกินไปจนทำให้เป็นปัญหา เทคนิคการใช้คลัทช์ออกตัวนั้นจะง่ายมากถ้าทำเป็นไม่สนใจมัน ค่อยๆปล่อยออกไปในลักษณะเหมือนให้สปริงคลัทช์ดันออกไปเอง เพียงแต่ใช้นิ้วช่วย “หน่วงเวลา” ไม่ให้สปริงมัน “ดีด” ออกไป พร้อมๆกับการเร่งเครื่องในจังหวะและปริมาณที่เท่าๆกันออกไป ยิ่งรถสมัยใหม่และออกแบบมาในคอนเช็พท์ให้ขี่ง่ายอย่าง NSR การปล่อยคลัทช์ออกตัวเป็นเรื่องง่าย อาจจะต้องสร้างความคุ้นเคยกับจังหวะเปิดของ RC วาล์วซึ่งจะทำให้เครื่องชะงักเหมือนจะดับไปเล็กน้อย (แต่จริงๆแล้วมันไม่ดับหรอก) สำคัญอยู่แต่เพียงเราต้องเตรียมพร้อมจะไปกับรถด้วยท่าการขับขี่ที่ถูกต้องในทันทีเท่านั้น ไม่ใช่ออกตัวด้วยความตกใจหรือให้รถพาไปตามบุญตามกรรม

เมื่อวิ่งได้ก็ต้องหยุดได้ “การใช้เบรก” เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเบรกมันอยู่ตรงไหน เพียงแต่ว่าจะใช้อย่างไรให้มันปลอดภัยและถูกวิธี จะว่าไปในการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์นั้น เราจะใช้เบรกเมื่อต้องการลดความเร็วหรือหยุดรถ อาจจะพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่าเราเบรกก็เพราะว่ามีสิ่งที่เป็น “อันตราย” หรือสิ่งที่คาดว่าจะเป็นอันตรายอยู่ข้างหน้า แต่ก็ยังมีให้พบเห็นกันอยู่บ่อยๆว่า การเบรกของผู้ขับขี่บางคนกับสร้าง “อันตราย” ขึ้นมาเสียเอง ทั้งนี้เพราะขาดความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนความชำนาญในการใช้เบรกอย่างถูกวิธีมาตั้งแต่แรก บางคนได้รับการสอนมาตั้งแต่ตอนหัดขี่รถใหม่ๆว่า “อย่าใช้เบรกหน้า” เนื่องจากมองว่าเบรกหน้านั้นเป็นของอันตราย แต่โดยแท้จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นเบรคหน้าหรือเบรคหลังก็เป็นอันตรายได้ทั้งสิ้นถ้าหากเราใช้ไม่ถูกต้อง สำหรับรถมอเตอร์ไซค์นั้นเราเคยบอกเอาไว้แล้วว่ามีเบรกอยู่ด้วยกัน 3 แบบคือ

1. เบรกหน้า เบรกหน้าเป็นเบรกที่ให้ประสิทธิภาพในการหยุดมากที่สุด ให้ระยะเบรกสั้น

ที่สุด นั่นหมายความว่าถ้าหากใช้อย่างถูกวิธีแล้วจะได้รับความปลอดภัยมากกว่า

2. เบรกหลัง เป็นเบรกที่มีประสิทธิภาพในการหยุดต่ำ ดังจะเห็นได้จากการทดลองซึ่งให้

ระยะเบรกไกลที่สุด อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการลื่นไถลของล้อหลังอีกด้วย กว่า 80% ของการใช้เบรกหลังอย่างเดียว มักจะทำให้เกิดล้อหลังล็อคและเกิดการลื่นไถลจนเป็นอันตราย

3. เบรกเครื่องยนต์ การเบรกด้วยเครื่องยนต์จะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเบรก

และเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดในการเบรก

แล้วทำอย่างไรล่ะเราถึงสามารถใช้เบรคได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นก็คือ

การใช้เบรกทั้ง 3 อย่างถูกต้องในเวลาเดียวกัน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากพอสมควรสำหรับผู้ที่เข้าใจผิดมาตลอดหรือไม่คุ้นเคยจริงๆ โดยเฉพาะเบรคหลังซึ่งทำงานด้วยเท้านั้นจะมีความประณีตน้อยกว่าเบรคหน้าซึ่งทำงานด้วยมือ การเกิดล้อหลังล็อคจึงมีอยู่บ่อยๆถึงแม้ว่าจะใช้เบรคหน้าและเบรคหลังพร้อมกันก็ตาม ในเรื่องนี้ก็คงไม่มีวิธีใดดีไปกว่าการฝึกด้วยตนเองจนสามารถจับความรู้สึกของล้อและน้ำหนักในการเบรคทั้งหน้าหลัง ที่เขาเรียกกันว่า “ฟิลลิ่งเบรก” ได้ โดยปกติเราจะใช้เบรกหน้ามากกว่าเบรกหลังคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 60/40 (เบรกหน้า 60% เบรกหลัง 40%) ลักษณะการใช้เบรคที่ถูกต้องคือค่อยๆเพิ่มน้ำหนักในการเบรคขึ้นไปทีละนิดๆจนรถหยุดอย่าใช้เบรคในลักษณะ “กระตุก” ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายได้ สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คืออย่ารีบกำคลัทช์ บางคนยกคันเร่งปุ๊บก็บีบคลัทช์ปั๊บซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เราจะใช้คลัทช์ก็เมื่อรถใกล้จะหยุดเท่านั้นเป็นการช่วยเบรคด้วยเครื่องยนต์ไปในตัว ในขั้นแรกนี้เรายังไม่ต้องไปยุ่งกับเกียร์ว่ามาเกียร์ไหน เบรกด้วยเกียร์นั้นจนรถหยุดแล้วค่อยว่ากันต่อ เมื่อชำนาญการใช้เบรกหน้า/หลังแล้วจึงเพิ่มการ “เชนจ์เกียร์” หรือลดเกียร์ลงตามลำดับความเร็วจนรถหยุดเป็นการใช้เบรกครบทั้ง 3 แบบตามตำรา

สรุปขั้นตอนการใช้เบรกมีดังนี้

1.เมื่อถึงจุดเบรคก็ให้ยกคันเร่งแล้วเริ่มเบรคโดยใช้เบรคหน้ามากกว่าเบรคหลังในอัตราส่วน 70/30 (ห้ามบีบคลัทช์ปล่อยไหล ยกคันเร่งเมื่อไหร่ก็เบรกเมื่อนั้น)

2. บีบคลัทช์ ลดเกียร์ ปล่อยคลัทช์ (ลดทีละเกียร์ให้สัมพันธ์กับความเร็ว)

3. เมื่อรถใกล้หยุดจึงค่อยบีบคลัทช์เพื่อกันเครื่องดับแล้วเอาเท้าซ้ายลงยันพื้น

อุปสรรคสำคัญของเบรคอย่างถูกต้องที่พบบ่อยที่สุดคือเบรคหลังมากจนล้อล็อคลื่นไถล สาเหตุมักจะมาจากใช้เบรกหลังมากเกินไปหรือใช้เบรกไม่นิ่มนวลพอ (ประเภทเท้าหนัก) คือเป็นไปในลักษณะ “กระทืบ” หรือ “กด” ไม่ใช่ “แตะ” นอกจากนี้ก็อาจจะเป็นเพราะว่าบีบคลัทช์เร็วเกินไปจนล้อหลังไม่มีแรงเฉื่อยก็จะทำให้ล้อล็อคได้ง่าย เหมือนกับเวลาเราขึ้นขาตั้งคู่หมุนล้อแล้วเบรก ล้อก็จะหยุดทันที กับถ้าเราเข็นรถกับพื้นแล้วเบรกด้วยน้ำหนักพอๆกัน ล้อจะหยุดยากกว่า วิธีการแก้ไขก็คือ “บรรจง” ในการใช้เบรกมากขึ้นคือ ค่อยๆเพิ่มน้ำหนักในการเบรก (ทั้งหน้า/หลัง) โดยพยายามจับอาการที่ล้อว่าความเร็วขนาดนี้ เราใช้น้ำหนักเบรกแค่นี้ มันจะมากไปหรือน้อยไป

สิ่งสำคัญของการควบคุมรถที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ก็คือ เทคนิคการใช้คันเร่งซึ่งสามารถใช้ให้เราบังคับรถได้ง่ายขึ้นหลายคนคิดว่าบทบาทของคันเร่งมีเพียงใช้สำหรับเร่งเครื่องให้รถเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วหรือลดความเร็วเท่านั้น แต่ผู้ที่มีประสบการณ์หรือมีชั่วโมงบินสูงหน่อย คงจะพอสังเกตได้ว่า การใช้คันเร่งนั้นช่วยใช้ในการบังคับควบคุมรถง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้นโดยไม่รู้ตัว มันเป็นเรื่องค่อนข้างยากพอสมควรที่จะอธิบายถึงการใช้คันเร่งให้ถูกวิธี นอกเสียจากว่าจะลองลงมือฝึกฝนด้วยความสังเกตสังกาและเรียนรู้ด้วยตัวเองเราสามารถบอกถึงความสำคัญและประโยชน์ของการใช้คันเร่งได้ แต่เราบอกไม่ได้ว่าเราควรจะใช้คันเร่งอย่างไรสำหรับช่วยควบคุมรถให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ เพราะมันมีตัวแปรหลายอย่างเข้ามาร่วม เป็นต้นว่า ความเร็วของรถ สภาพทางวิ่ง ทิศทางของรถ หรือแม้กระทั่งน้ำหนักและกำลังของรถก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ประสบการณ์จากการฝึกฝนและเรียนรู้ด้วยตนเองจะเป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ได้

ทำไมคันเร่งจึงช่วยในการควบคุมรถได้?เป็นคำถามที่ผมเดาเอาว่าน่าจะอยู่ในใจของหลายๆคน ทั้งๆที่รู้กันมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าเมื่อพูดถึง “การบังคับควบคุม” แล้ว เรามักจะมองไปถึงระบบบังคับเลี้ยวหรือแฮนเดิ้ลบาร์ซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการบังคับควมคุมนั้นหมายรวมถึงหลายๆอย่างที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่และหยุดรถ ทั้งแฮนด์ คันเร่ง เบรก คลัทช์ ไปจนถึงเกียร์ ทั้งหมดนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับควบคุมทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น ขณะที่เราพารถเข้าโค้งด้วยความเร็วระดับหนึ่งจู่ๆ “เกียร์หลุด” ตกมาอยู่เกียร์ว่างซะเฉยๆ ร้อยทั้งร้อยถ้าเป็นจังหวะที่จะต้องเปิดคันเร่งแล้วต้องมีการเสียจังหวะแน่นอน เพราะเกิดความไม่สัมพันธ์กันระหว่างความเร็ว คันเร่งและเกียร์

เราจะยกตัวอย่างอีกหนึ่งเหตุการณ์ซึ่งพบบ่อยที่สุดก็คือการ บีบคลัทช์เข้าโค้ง ในจังหวะที่ยกคันเร่งเพื่อเข้าโค้งนั้น มักจะตามมาด้วยการบีบคลัทช์แล้วปล่อยไหลเข้าโค้ง จะปล่อยคลัทช์อีกทีก็ตอนที่ต้องการจะเร่งออกจากโค้งซึ่งในจังหวะนี้จะมีอาการ “กระตุก” หรือ “สะดุ้ง” เนื่องจากความไม่สัมพันธ์กันระหว่างรอบหมุนของเครื่องกับรอบหมุนของล้อหลัง อาการกระตุกหรือสะดุ้งนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความต่างกันของรอบเครื่องและรอบล้อ ยิ่งรอบต่างกันมากอาการก็ยิ่งมาก อย่างเช่นโค้งเดียวกันความเร็วเท่ากันเข้าด้วยวิธีบีบคลัทช์ปล่อยไหลเหมือนกัน แต่ครั้งหนึ่งเข้าด้วยเกียร์ 2 กับอีกครั้งเข้าด้วยเกียร์ 3 ครั้งที่เข้าด้วยเกียร์ 2 จะมีอาการมากกว่า เนื่องจากรอบเครื่องหมุนเร็วกว่าความเร็วรอบของล้อมากกว่าเกียร์ 3

พูดถึงการเข้าโค้งซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆของการขับขี่ที่เชื่อได้เลยว่า ผู้ขับขี่ทุกคนจะต้องพบเจอเสมอในการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ถ้าจะให้ลำดับเหตุการณ์กันให้ดีๆอย่างช้าๆ จะพบว่า การเข้าโค้งแต่ละครั้งมีลำดับขั้นตอนที่ค่อนข้างมากแต่กลับใช้เวลาในการปฏิบัติเพียงน้อยนิด บางครั้งใช้เวลาเพียงพริบตาเดียวเท่านั้น (เช่นเดียวกับอุบัติเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วเวลาพริบตาเดียวเช่นกัน) ในรถยนต์การเข้าโค้งแต่ละครั้งผู้ขับขี่จะต้องเจอกับแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง ซึ่งจะทำให้ตัวผู้ขับขี่ถูกเหวี่ยงออกด้านนอกโค้ง เป็นต้นว่าในขณะที่เราเข้าโค้งด้านซ้ายนั้น ตัวผู้ขับขี่จะถูกเหวี่ยงออกไปทางด้านขวา ยิ่งการเข้าโค้งมีความเร็วหรือความรุนแรงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเกิดแรงเหวี่ยงที่จะทำให้เหวี่ยงออกแรงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากรถยนต์ไม่สามารถเอียงรถเพื่อช่วงถ่วงแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางได้เหมือนกับรถมอเตอร์ไซค์ และการที่สามารถถ่วงแรงหนีศูนย์กลางได้ของรถมอเตอร์ไซค์นี่เองที่ทำให้เกิดเทคนิคการเข้าโค้งเพื่อรักษาสมดุลและเพื่อความปลอดภัยในการเข้าโค้ง แต่ก่อนที่จะพูดถึงเทคนิคการเข้าโค้งนั้น เราจะพูดถึงลักษณะและท่าทางในการเข้าโค้งกันก่อน เนื่องจากท่าทางการขับขี่ขณะเข้าโค้งนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ แต่ละแบบให้ความปลอดภัยและมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน โดยจะแบ่งตามลักษณะท่านั่งของผู้ขับขี่ที่เป็นส่วนสำคัญในการบังคับควมคุมรถแบ่งออกเป็น 4 แบบคือ

1. แบบ Lean-out การเข้าโค้งแบบนี้ผู้ขับขี่จะถ่วงน้ำหนักตัวค่อนไปทางด้านนอกโค้ง โดย
ตัวรถจะเอียงเข้าไปด้านในโค้งเล็กน้อย ซึ่งจะเหมาะสำหรับสภาพผิวทางโค้งที่ลื่นไถลได้ง่าย การเข้าโค้งในลักษณะ Lean-out จึงพบมากในการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์วิบาก เนื่องจากสามารถควบคุมรถแม้เมื่อเกิดการลื่นไถลได้ดี

2. แบบ Lean-with การเข้าโค้งแบบนี้ผู้ขับขี่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวรถ กล่าวคือทั้งรถและผู้ขับขี่จะเอียงไปเท่าๆกัน ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานปกติเพราะผู้ขับขี่สามารถเปลี่ยนทิศทางและควบคุมรถได้ง่าย มือและเท้ายังคงทำงานได้อย่างสะดวก เป็นท่าทางการเข้าโค้งแบบมาตรฐานของการขับขี่แบบปลอดภัยในชีวิตประจำวัน

3. แบบ Lean-in การเข้าโค้งแบบนี้ผู้ขับขี่จะถ่วงน้ำหนักไปทางด้านในโค้งโดยเอียงมากกว่าตัวรถเล็กน้อย เหมาะสำหรับการเข้าโค้งที่ต้องการความเร็วและมั่นใจในการยึดเกาะของรถได้ การเข้าโค้งแบบนี้จะให้ความคล่องตัวในการบังคับควบคุมน้อยกว่าแบบ Lean-with

4. แบบ Hang-on การเข้าโค้งแบบนี้ผู้ขับขี่จะถ่วงน้ำหนักตัวไปด้านในโค้งมากจนอยู่ในลักษณะโหนรถ เพื่อเอาชนะแรงเหวี่ยงมากๆจากการเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง การเข้าโค้งแบบนี้ผู้ขับขี่จะสามารถควบคุมรถได้ยากไม่เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานปกติส่วนมากแล้วจะใช้เฉพาะในสนามแข่งทางเรียบเท่านั้น

จากท่าทางการเข้าโค้ง 4 แบบที่กล่าวมา เราจะพบว่าการขับขี่เข้าโค้งแบบ Lean-with เป็นท่าที่เหมาะสมและให้ความปลอดภัยมากที่สุด ตลอดจนเป็นท่าทางที่ต่อเนื่องมาจากท่าทางการขับขี่ปกติ ผู้ขับขี่จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนท่าก่อนหรือในขณะเข้าโค้ง กล่าวคือ เท้าทั้งสองอยู่บนพักเท้า หัวเข่าแนบกระชับถังน้ำมัน แต่ที่แตกต่างออกไปก็คือจากที่รถอยู่ในลักษณะตั้งตรงมาอยู่ในลักษณะเอียงและที่สำคัญก็คือไม่ว่าจะเอียงมากน้อยแค่ไหน ศีรษะจะต้องตั้งตรงเท่านั้น การที่ศีรษะตั้งตรงนี้ทำให้เราสามารถอ่านเหตุการณ์ข้างหน้าและรักษาสมดุลของร่างกายกับตัวรถได้

ในการเข้าโค้งแต่ละโค้งนั้นเทคนิคสำคัญก็คือ “ไลน์” หรือทางวิ่งที่เหมาะสมเพื่อให้รัศมีของการเข้าโค้งกว้างขึ้น จึงต้องมีการกำหนด “ไลน์” ของโค้งก่อนเสมอ ซึ่งวิธีกำหนดไลน์ที่นิยมและได้ผลดีที่สุดก็คือ ไลน์out-in-out กล่าวคือสมมติเราเข้าโค้งด้านซ้ายเราจะชิดขวาก่อนเข้าโค้งค่อยๆเอียงรถเข้าด้านในโค้ง และเร่งออกจากโค้งช้าๆ ทั้งนี้ผู้ขับขี่จะต้องใช้ความเร็วที่เหมาะสมตลอดจนสังเกตความกว้าง , แคบของโค้งจึงจะสามารถเข้าโค้งได้อย่างราบรื่นสม่ำเสมอ เพราะถึงแม้ว่าจะมีความชำนาญมากแต่ถ้าใช้ความเร็วสูงเกินไปก็จะทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย

การเข้าโค้งอย่างปลอดภัย มีองค์ประกอบหลักสำคัญอยู่ 3 ประการคือ ความเร็ว , การเตรียมตัวก่อนเข้าโค้ง (เบาเครื่อง , เบรก , เปลี่ยนเกียร์ และการใช้สายตา) ประการสุดท้ายก็คือ การเร่งเครื่องออกจากโค้ง ซึ่งสรุปเทคนิคการเข้าโค้งโดยย่อได้เป็นขั้นตอนดังนี้

1.ลดความเร็วให้เหมาะสมตั้งแต่อยู่ในทางตรงก่อนเข้าโค้ง ถ้าเป็นโค้งที่ไม่เคยผ่านมาก่อนต้องลดความเร็วมากเพื่อความปลอดภัย (ยิ่งเร็วก็ต้องยิ่งเอียงรถมากด้วย)

2.ใช้สายตามองเข้าไปในโค้งเพื่อดูสภาพผิวทางให้แน่ใจก่อนที่จะเอียงรถเข้าไป

3.เมื่อเอียงรถเข้าไปแล้วพยายามรักษาลักษณะท่านั่งและความสมดุลของแรงเหวี่ยงเอาไว้ และใช้คันเร่งช่วยเบาๆเมื่อทำท่าจะเสียสมดุลพับลงในโค้ง (แสดงว่าใช้ความเร็วน้อยไป) สายตามองไกลออกจากโค้งอย่าก้มหน้ามองอยู่ในโค้งหรือหน้ารถ อย่าเกร็งหรือปล่อยตัวตามสบายจนเกินไปเพราะจะทำให้การบังคับควบคุมไม่ดีพอ อาจจะแหกโค้ง หรือเสียการทรงตัวอยู่ในโค้ง

4.เมื่อกำลังจะผ่านโค้งหรือมองเห็นทางข้างหน้าแล้วจึงค่อยๆเร่งเครื่องเพื่อเพิ่มความเร็วและเพื่อให้ตัวรถตั้งตรงขึ้น หลีกเลี่ยงการเร่งเครื่องยนต์รวดเร็วเพราะจะทำให้เกิดการลื่นไถลได้ง่าย และรักษาขอบเขตของความปลอดภัยในขณะเข้าโค้งอย่างสม่ำเสมอ (รู้ขีดความสามารถของตัวเองและรถ) ที่สำคัญห้ามบีบคลัทช์ขณะเข้าโค้งโดยเด็ดขาด

เทคนิคอีกอย่างในการขับขี่ที่ถูกต้องและปลอดภัย คือการคาดคะเนระยะทางการใช้ความเร็ว และการตัดสินใจ ซึ่งทั้งสามอย่างสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันโดยตลอด สำหรับการขับขี่ทุกครั้ง ผู้ขับขี่จะต้องมีสัญชาตญาณที่จะพิจารณาระยะทางสภาพทางสภาพการจราจรของยานพาหนะคันอื่น หรือสิ่งต่างๆรอบตัวไม่ว่าจะเป็นด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังว่าอยู่ห่างเพียงใด มีการเคลื่อนที่อย่างไร จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเราหรือไม่ รวมไปถึงการเดาใจผู้ขับขี่ร่วมถนนในเบื้องต้นว่าควรจะหลบหลีกอย่างไร ผู้ขับขี่บางคนสังเกตแม้แต่ทิศทางของล้อรถคันอื่น เพื่อคำนวณการเคลื่อนที่สำหรับหลบหลีกก็มี คติเตือนใจเบื้องต้นก็คือ “ขับอย่างปลอดภัยไว้ก่อน” (Safety First) การพิจารณาหรือสังเกตเหตุการณ์ล่วงหน้านี้จะทำให้ตนเองมีเวลาตัดสินใจมากขึ้น สามารถตอบสนองการสัญจรได้อย่างถูกต้องและสามารถเผื่อเวลาไว้สำหรับแก้ไขสถานการณ์ เมื่อการคาดคะเนนั้นผิดพลาดซึ่งอาจจะเกิดจากความมักง่ายในการใช้รถใช้ถนนคนอื่นด้วย

การคาดคะเนระยะทาง ความเร็ว และทิศทางผิดพลาด สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายจากหลายสาเหตุต่างกันไป เป็นต้นว่าการขับขี่ในเวลากลางคืน ความมืดจะทำให้เราคาดคะเนความเร็วของรถคันอื่นได้ยากและมักจะเห็นว่ารถคันอื่นวิ่งช้า ทั้งที่ความเร็วเท่าๆกันนี้เมื่ออยู่ในเวลากลางวันจะพบว่าเป็นความเร็วสูงสาเหตุก็เนื่องมาจากความมืดของสภาพแวดล้อมทำให้ยากกับการเปรียบเทียบ ในเวลากลางวันเราจะมองเห็นสภาพแวดล้อมโดยรอบซึ่งไม่ได้เคลื่ยนที่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับรถซึ่งเคลื่อนที่แล้วจะทำให้เรารู้สึกถึงความเร็วหรืออีกในกรณีหนึ่งก็คือการวิ่งในถนนที่แคบหรือมีความหลากหลายของสิ่งแวดล้อมสองข้างทางมาก เช่นมีตึก มีบ้าน มีชุมชน เราก็จะรู้สึกว่ารถวิ่งเร็วในขณะที่ความเร็วเท่ากันนี้ขับขี่อยู่บนถนนกว้างสองข้างทางโล่งๆจะทำให้รู้สึกว่าเราวิ่งช้า

ขนาดของพาหนะก็มีผลกับการคาดคะเนระยะทางด้วยเหมือนกัน ตามปกติแล้วเราจะมองเห็นรถใหญ่ว่าอยู่ใกล้ รถเล็กจะอยู่ไกล ซึ่งอาจจะทำให้การกำหนดระยะเบรกผิดพลาดและเกิดอันตรายได้ เมื่อพูดถึงระยะเบรกก็ทำให้นึกถึงในกรณีที่มีคนซ้อนขึ้นมาได้ การขับขี่ในสภาพผิวทางไม่ดี การเบรกอย่างกระทันหัน การวิ่งเข้าโค้ง หากมีคนซ้อนท้ายไปด้วยจะเป็นการเพิ่มอันตรายมากกว่าการขี่คนเดียว เพราะคนซ้อนจะทำให้เกิดแรงหนีศูนย์กลางและแรงเฉื่อยมากขึ้นรวมไปถึงจุดศูนย์ถ่วงก็เปลี่ยนไป การรักษาสมดุลจะทำได้ยากมากขึ้น ยิ่งถ้าคนซ้อนเป็นผู้ที่ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ไม่เป็นก็มักจะเกิดอาการ “เกร็ง” ถ้าเป็นอย่างนี้ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ รวมไปถึงพยายามไม่สร้างความตกใจให้กับคนซ้อน เป็นต้นว่าการเข้าโค้งแรงๆ ใช้ความเร็วสูง หรือเบรกกระทันหัน รถจะเสียการทรงตัวได้ง่าย การคาดคะเนความเร็ว ระยะทางและทิศทางจะต้องคำนึงถึงคนซ้อนด้วนเสมอ

เมื่อเราขับขี่รถด้วยความเร็วสูงต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจะเกิดความรุ้สึกว่าตัวเองขับช้า เมื่อมีเหตุการณ์กระทันหันอาจจะทำให้ไม่สามารถควบคุมรถได้ คำแนะนำที่ดีก็คือ หมั่นมองดูมาตรวัดความเร็วและสิ่งใกล้ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะบนทางหลวง นอกเขตชุมชน ซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นทางตรงๆยาวๆ สามารถใช้สายตามองไปข้างหน้าไกลมาก ทำให้รู้สึกว่าความเร็วที่เราวิ่งเข้าไปหานั้นช้าเหลือเกิน นักแข่งในสนามมักใช้ประโยชน์จากการมองไกลนี้ขจัดความกลัวเมื่อต้องใช้ความเร็วสูงมากๆ เพราะจะทำให้รู้สึกว่ารถวิ่งช้าลง และมีเวลาตัดสินใจได้มากขึ้นนั่นเอง

สุดท้ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขับขี่ก็คือ การขับขี่ในสภาวะไม่ปกติของสภาพแวดล้อม เป็นต้นว่าการขับขี่ในขณะที่ฝนตก นอกจากทัศนวิสัยไม่ดีแล้ว เม็ดฝนยังจะเข้าตาผู้ขับขี่ได้ง่ายทำให้ต้องก้มหน้าและเสียสมาธิ จึงควรเลือกใช้หมวกกันน็อคแบบมีบังลมหน้าเป็นหลักเบื้องต้นถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทิ้งระยะห่างรอบข้างให้มากกว่าปกติและขับขี่ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเวลาเลี้ยวโค้งเนื่องจากถนนลื่น นอกจากนี้ลมก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการขับขี่เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นทางออกอุโมงค์ หุบเขา ช่องตึกสูง สะพานสูง ลมจะแรงกว่าปกติ และยังมีฝุ่นผงปลิวเข้าตาได้ง่าย ควรปฏิบัติเช่นเดียวกับการขับขี่ขณะฝนตก

แหล่งที่มาของบทความ : http://www.fcciracing.com/tipsModifield/ride_safety1.html