banner.gif

สาระน่ารู้เกี่ยวกับการใช้รถจักรยานยนต์

1.      เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ในการขับขี่รถจักรยานยนต์

หมวกกันน็อก

-          ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายต้องสวมใส่หมวกกันน็อกในขณะขับขี่รถทุกครั้ง และหมวกกันน็อกต้องมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพมาตรฐานจาก มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)

-          การสวมใส่หมวกกันน็อก ต้องใส่สายรัดคางให้แน่นกระชับพอดี  ไม่รัดแน่นหรือหลวมเกินไป โดยปกติสามารถใช้นิ้วสอดเข้าไปได้

เสื้อแขนยาว

-          ควรสวมใส่เสื้อแขนยาวหรือเสื้อแจ๊กเก็ตที่มีสีสันสว่างสดใส เพื่อให้ผู้อื่นมองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไกล

กางเกงขายาว

-          กางเกงควรเป็นกางเกงที่มีเนื้อผ้าที่หนา เช่น กางเกงยีนส์ ที่ไม่คับหรือหลวมเกินไป

ถุงมือ

-          ผู้ขับขี่ควรใส่ถุงมือสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เพื่อให้กระชับในขณะขับขี่และป้องกันมิให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงที่มือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

รองเท้า

-          ควรสวมใส่รองเท้าบู๊ทหรือรองเท้าหุ้มส้นทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้าย ไม่ควรสวมใส่รองเท้าแตะในการขับขี่รถเพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงบริเวณรองเท้าเมื่อเกิดอุบัติเหต

การตรวจเช็ครถก่อนการขับขี่

ผู้ขับขี่ควรหมั่นตรวจเช็ครถก่อนการขับขี่ทุกครั้ง รถต้องอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานอยู่ตลอดเวลา ควรสำรวจตัวรถและตรวจเช็คระบบที่สำคัญต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ และเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้ใช้ถนนอื่นๆ

                น้ำมันเชื้อเพลิง

-          การขับขี่ทุกครั้งต้องแน่ใจว่า มีน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงพอหรือไม่ต่อการเดินทาง

น้ำมันเครื่องหรือน้ำมันหล่อลื่น

-          ตรวจเช็คระดับน้ำมันหล่อลื่นให้อยู่ในระดับที่กำหนด และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุกครั้งที่น้ำมันเครื่องสกปรก หรือครบทุกๆ 3,000 กิโลเมตร

ยาง

-          ควรตรวจเช็คแรงดันลมยางให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ไม่แข็งหรืออ่อนเกินไป

-          ตรวจเช็คสภาพและการสึกหรอของยางอย่างสม่ำเสมอ

โซ่

-          ตรวจเช็คความตึงของโซ่ไม่ให้ตึงหรือหย่อนเกินไป (ระยะความตึงของโซ่มาตรฐานประมาณ 15-20 มิลลิเมตร)

-          ควรใช้น้ำมันหล่อลื่นสำหรับโซ่โดยเฉพาะ (ไม่ควรใช้จาระบี)

เครื่องยนต์

-          ควรตรวจเช็คการซึมของน้ำมันเครื่องที่เครื่องยนต์ว่ามีการรั่วซึมหรือไม่

เบรค

-          ตรวจเช็คการทำงานของเบรคหน้า-หลัง ว่าทำงานได้ดีหรือไม่

-          หมั่นตรวจเช็คระดับน้ำมันเบรคให้อยู่ในระดับเพียงพอ (เหนือขีด LOWER )

-          ตรวจเช็คระยะฟรีของคันเบรคหน้าและคันเบรคหลังให้อยู่ในระยะฟรีประมาณ 15-20 มม.


คลัทช์

-          เมื่อบีบคันคลัทช์มาด้านหลังจนสุดเช็คการทำงานของเกียร์ว่าเข้าเกียร์ได้นุ่นนวลเป็นปกติดีหรือไม่

-          เช็คระยะฟรีของคันคลัทช์ที่เหมาะสมอยู่ในระยะฟรี 10-20 มม.

ระบบไฟ

-          เช็คระบบไฟสัญญาณต่างๆ เช่นไฟหน้า,ไฟท้าย,ไฟเบรคและไฟเลี้ยวให้สามารถทำงานได้โดยปกติ

-          เช็คสัญญาณแตรให้พร้อมใช้งาน

กระจกมองหลัง

-          การปรับแต่งกระจกมองหลังให้ปรับในขณะที่รถจอดอยู่กับที่และอยู่ในท่านั่งขับขี่ที่ถูกต้อง การปรับกระจกมองหลังต้องสามารถมองเห็นภาพที่อยู่ด้านหลังของท่านอย่างชัดเจน

ติดเครื่องยนต์

-          ควรมีการติดเครื่องยนต์ เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนการขับขี่รถจักรยานยนต์ทุกครั้ง และเป็นการยึดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์

-          ควรมีการสังเกตุจากการฟัง ว่ามีเสียงแปลกปลอมของเครื่องยนต์ในชิ้นส่วนไหนดังเกินสมควรหรือไม่

ท่าทางการขับขี่

          การขึ้นรถ-ลงรถ

 

                การขึ้นหรือลงรถทุกครั้งให้ใช้มือขวาบีบคันเบรคหน้าไว้แล้วหันมองดูด้านหลังจนแน่ใจว่า ไม่มีรถคันอื่นตามหรือวิ่งแซงมา

                เมื่อขึ้นหรือลงรถ ให้ใช้เพียงเท้าซ้ายยึดเป็นหลักให้มั่น จงจำไว้ว่า

-          อย่าหันหรือหมุนแฮนด์รถไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

-          ควรเอียงรถเข้าหาตัวผู้ขับขี่เล็กน้อย

-          ควรวางเท้าซ้ายของท่านให้มั่นคงลงบนพื้นถนน

ตำแหน่งการขับขี่

                การนั่งขับขี่รถในตำแหน่งที่ถูกต้องทำให้เกิดความ

-          คล่องตัวในการควบคุมรถ

-          มีการทรงตัวที่ดี

-          ทัศนวิสัยในการมองเห็นที่ดี

-          ไม่เมื่อยล้าในขณะขับชี่(ไม่ควรนั่งชิดด้านหน้าหรือหลังมากเกินไป

1.        สายตา             ควรมองตรงไปข้างหน้าไม่ก้มหรือเงย

2.        หัวใหล่            วางไหล่ให้สบายๆ ไม่ยกหรือเกร็งจนเกินไป

3.        แขน                หรือศอก                ปล่อยตามธรรมชาติ ไม่กางออก

4.        มือ                   จับแฮนด์ทั้งสองให้มืออยู่ระหว่างกึ่งกลางของมือจับพอดีและให้กระชับไม่แน่นหรือหลวม                 เกินไป

5.        สะโพก           นั่งขับขี่รถในตำแหน่งที่ถูกต้อง เพื่อช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการควบคุมรถ

6.        หัวเข่า             หัวเข่าเหยียดตรงไปข้างหน้าบีบกระชับให้พอดีๆ กับถังน้ำมัน(อย่ากางเข่าออกมาด้านข้างโดยเด็ดขาด)

7.        ปลายเท้า         วางเท้าทั้งสองลงบนที่พักเท้า ให้ปลายเท้าชี้ตรงไปข้างหน้า โดยที่ปลายเท้าขวาแตะเบาๆ อยู่ที่คันเบรคหลัง และปลายเท้าซ้ายวางไว้ที่คันเปลี่ยนเกียร์ (อย่าสอดปลายเท้าทั้งสองไว้ด้านล่างคันเปลี่ยนเกียร์และคันเบรคหลัง)

ความรู้พื้นฐานการขับขี่

การออกรถและการเร่งเครื่องยนต์อย่างนิ่มนวล

                ในขณะที่กำลังจะนำรถออกมาจากขอบด้านซ้ายของถนน สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องทำก็คือ ต้องควบคุมรถได้อย่างมั่นคง และออกรถได้จังหวะสอดคล้องกับสภาพการจราจรในขณะนั้น

                การออกรถ

-          เพื่อความปลอดภัย หันมองดูรอบๆ แล้วเปิดไฟสัญญาณเลี้ยวขวา

-          เลือกใช้เกียร์ไปที่ตำแหน่งเกียร์ 1

-          หันมองผ่านเหนือไหล่ขวาตรวจเช็คความปลอดภัยอีกครั้ง

-          เริ่มออกรถไปทางขวาช้าๆ

-          เมื่อออกรถเรียบร้อยแล้ว ให้ปิดไฟสัญญาณเลี้ยวขวา

ข้อแนะนำในการออกรถ

-          การออกรถต้องคำนึกถึงความปลอดภัยเป็นหลัก จงระมัดระวังอย่าทำให้รถคันอื่นต้องหลบหรือลดความเร็วลงในขณะที่ท่านนำรถออกจากข้างทาง

-          ระวัง! อย่าออกรถด้วยการเลี้ยวออกมาทางด้านขวาอย่างกระทันหัน

การออกรถอย่างรวดเร็วและการเร่งความเร็ว

-          หมั่นพยายามฝึกฝนหาความชำนาญในการออกรถอย่างรวดเร็ว ด้วยการบิดคันเร่งและปล่อยคลัทช์ได้อย่างรวดเร็วให้สัมพันธ์ในเวลาเดียว จนกว่าจะเกิดความคล่องตัวในการใช้คลัทช์ได้อย่างดี เพราะบางครั้งการขับขี่รถต้องให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรในช่วงเวลาการจราจรติดขัดหรือในชั่วโมงเร่งด่วน

-          ฝึกการใช้คลัทช์สลับกันไปมาเพื่อช่วยในการปรับลดความเร็วในขณะขับขี่รถเข้าทางแยกหรือหักมุมถนน

การเปลี่ยนเกียร์

                การขับขี่รถจักรยานยนต์ผู้ขับขี่จะต้องรู้ว่า เมื่อไหร่ควรจะเปลี่ยนเกียร์ไปที่ตำแหน่งเกียร์ที่สูงกว่า การที่จะตัดสินใจเปลี่ยนเกียร์ให้อยู่ในตำแหน่งเกียร์ที่สูงกว่านั้น ปัจจัยขึ้นอยู่กับสภาวการณ์จราจรรอบๆตัว,ความเร็วที่กำลังใช้อยู่ และสมรรนะของเครื่องยนต์

                การเปลี่ยนเกียร์รถให้ไปอยู่ที่ตำแหน่งเกียร์ที่สูงกว่าโดยไม่เร่งเครื่องยนต์ อาจทำให้เครื่องยนต์เกิดการสั่นหรือกระตุก และถ้าหากการใช้เกียร์ต่ำในขณะที่รถวิ่งด้วยความเร็วสูง ก็จะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและมีเสียงดังเนื่องจากเครื่องยนต์ทำงานที่ความเร็วรอบสูง

                ข้อแนะนำ  ควรเลือกใช้เกียร์ให้เหมาะสมและสัมพันธ์กันกับความเร็วของรถ ด้วยวิธีการดูอาการสั่นหรือฟังเสียงของเครื่องยนต์

                วิธีเปลี่ยนเกียร์ไปที่ตำแหน่งเกียร์ต่ำกว่า

-          เมื่อลดความเร็วลง

-          ขณะขับขี่บนทางสูงชัน

-          ต้องการใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรคในขณะขับขี่บนถนนที่เปียกลื่นหรือขับขี่ลงเขา

การเบรค

                ประโยชน์ของการใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรค เพื่อลดความเร็วของรถลง

                ในขณะที่เบาคันเร่ง เครื่องยนต์จะค่อยๆ ช้าลง ล้อหลังซึ่งทำงานสัมพันธ์กันกับเครื่องยนต์จะค่อยๆ หมุนช้าลงไป ส่งผลให้ความเร็วของรถช้าลงไปด้วย การลดความเร็วของรถด้วยวิธีนี้ เรียกว่า การใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรค (Engine Brake) และถ้าต้องการจะลดความเร็วของรถให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นก็สามารถทำได้ด้วยการเปลี่ยนเกียร์ไปที่ตำแหน่งเกียร์ที่ต่ำกว่า การใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรคด้วยวิธีนี้สำคัญอย่างยิ่งเมื่อต้องการจะชะลอความเร็ว ในขณะที่ขับขี่รถเข้าไปบนถนนที่เปียกลื่น, ขณะขับขี่รถลงจากที่ลาดชัน, หรือเมื่อต้องการจะลดความเร็วของรถลงในขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง

                อย่างไรก็ตาม จงจำไว้เสมอว่าการใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรคจะไม่เป็นผล ถ้ามือซ้ายยังบีบคลัทช์อยู่

การใช้เบรคหน้าและหลังอย่างมีประสิทธิภาพ

                การควบคุมให้รถหยุดอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จงพยายามฝึกฝนเทคนิคที่จะทำให้คุณหยุดรถได้ในระยะทางสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยไม่เสียการทรงตัว

                วิธีการใช้เบรคหน้า

                เบรคหน้าเป็นเบรคที่มีประสิทธิภาพในการหยุดรถได้ดีกว่าเบรคหลัง การใช้เบรคหน้าสามารถกระทำได้โดยค่อยๆ บีบคันเบรคด้วยมือขวา ถ้าปรากฎว่าล้อหน้าถูกล็อค และรถเริ่มมีอาการลื่นไถลในขณะที่ใช้เบรคหน้าให้รีบปล่อยคันเบรคทันทีแล้วค่อยๆ ควบคุมให้ตั้งตรงเนื่องจากเบรคหน้าใช้บังคับด้วยมือจึงควบคุมได้ดีกว่าลองเริ่มเบรคเบาๆ อย่างต่อเนื่อง แล้วค่อยๆ เพิ่มแรงบีบมากขึ้นๆ จนกว่าจะหยุด

                วีธีการใช้เบรคหลัง

                เบรคหลังสามารถกระทำได้โดยใช้เท้าขวาเหยียบลงบนคันเบรค การใช้เบรคหลังอย่างเดียวไม่สามารถที่จะหยุดรถได้ในระยะสั้นๆ เพราะเบรคหลังมีประสิทธิภาพในการหยุดรถได้น้อยกว่าเบรคหน้า และถ้าหากท่านใช้เบรคหลังเพียงอย่างเดียวอย่างรุนแรง ก็จะทำให้ล้อล็อก เป็นเหตุให้รถลื่นไถลหรือล้มลงได้ พยายามใช้เบรคหลังเบาๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มแรงเบรคทีละน้อยๆ จนกว่ารถจะหยุด

ข้อแนะนำในการใช้เบรคอย่างถูกวิธี

1.        คืนคันเร่งแล้วใช้เบรค (วิธีนี้จะทำให้เกิดการใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรค)

2.        ใช้เบรคหน้าและเบรคหลังพร้อมๆ กัน (จะสามารถหยุดรถได้ด้วยระยะทางสั้นๆ และมีประสิทธิภาพ)

3.        การใช้เบรคควรใช้ในขณะที่รถอยู่ในตำแหน่งตั้งตรง

4.        หลีกเลี่ยงการใช้เบรคอย่างกระทันหันหรืออย่างรุนแรง

5.        การใช้เบรคด้วยวีธีย้ำเบรคก่อนหยุดรถจะช่วยหลีกเลี่ยงการใช้เบรคอย่างรุนแรงและช่วยเตือนให้ผู้ขับขี่ด้านหลังเพิ่มความระมัดระวังขึ้นมาก เพราะขณะที่ใช้เบรคสัญญาณไฟเบรคจะปรากฏที่ด้านหลังรถทุกครั้งที่ใช้เบรค

6.        บนพื้นผิวถนนที่เปียก ระยะทางในการหยุดรถต้องยาวกว่าพื้นถนนแห้ง จงหลีกเลี่ยงการเบรคอย่างกระทันหันและรุนแรง เพราะจะทำให้รถเสียหลักลื่นไถลหรือล้มลงได้ การใช้เบรคบนถนนที่เปียกต้องตั้งตัวรถให้ตรงอยู่เสมอ    หลีกเลี่ยงการใช้เบรคอย่างรุนแรง และควรขับขี่รถทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้ามากกว่าปกติพอสมควร

การใช้เบรค ( ตอนที่ 2 )

                วีธีหยุดรถที่จุดเบรค

1.        ลดความเร็วลงก่อนถึงเป้าหมายที่จะเบรค เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เบรคหลายๆ ครั้ง (ควรใช้เบรคหน้า – เบรคหลัง และเครื่องยนต์ช่วยเบรคพร้อมๆ กันเพื่อหยุดรถได้ตามเป้าหมายที่กำหนด)

2.        หยุดรถให้ปลายสุดของล้อหน้าสัมผัสกับจุดเบรคที่กำหนดหยุด

3.        เปลี่ยนเกียร์ไปที่ตำแหน่งเกียร์ 1 ก่อนที่รถจะหยุด

4.        เมื่อรถหยุดนิ่งแล้วให้ใช้เท้าซ้ายวางลงบนพื้น พร้อมกับบีบคลัทช์ด้วยมือซ้ายจนสุด

การเบรคอย่างกระทันหัน

                ควรฝึกฝนการเบรคอย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยใช้ระยะทางในการเบรคให้สั้นที่สุดและในกรณีที่ต้องเบรคอย่างฉุกเฉิน เช่น คนวิ่งข้ามถนนตัดหน้าอย่างกระชั้นชิด หรือมีรถวิ่งตัดหน้าอย่างคาดไม่ถึง

ข้อแนะนำในการใช้เบรคอย่างกระทันหัน

1.        ควบคุมรถให้ตั้งตรง

2.        ทำการเบรครถอย่างถูกต้องตามขั้นตอน (ใช้เบรคหน้ามากกว่าเบรคหลัง ระวังอย่าให้ล้อล๊อค)

3.        รักษาท่าทางการขับขี่ให้ถูกต้อง ในขณะที่เบรครถอย่างรวดเร็ว

-          เข่าทั้งสองหนีบชิดกับถังน้ำมัน

-          ศอกทั้งสองแนบชิดลำตัว

-          มือทั้งสองข้างจับแฮนด์ให้กระชับ งอข้อมือเล็กน้อย ลักษณะเตรียมพร้อมที่จะรับน้ำหนักตัวเอาไว้ไม่ให้ถลำไปด้านหน้า

4.        บีบคลัทช์ให้สุดก่อนที่จะหยุดรถ แล้ววางเท้าซ้ายลงบนพื้น

 

ทบทวนข้อปฏิบัติ

                ให้ผู้ขับขี่ทำการทบทวนโดยรวมข้อปฏิบัติ เพื่อช่วยให้เกิดความชำนาญในการใช้รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย ควรตรวจสอบรายการต่อไปนี้ว่า ท่านมีความสามารถทำได้ครบถ้วน ถูกต้องหรือไม่

1.        ท่าทางอารขับขี่ของท่านถูกต้องหรือไม่

2.        ท่านออกรถอย่างถูกต้องดดยปราศจากความยุ่งยากหรือไม่

3.        ท่านสามารถเปลี่ยนเกียร์ได้ตามต้องการด้วยความเรียบร้อยหรือไม่

4.        ท่านสามารถควบคุมการให้เบรคได้หรือไม่

5.        ท่านสามารถหยุดรถได้ทันท่วงทีหรือหยุดรถขณะคับขันได้อย่างง่ายดายหรือไม่

หากท่านติดขัดหรือไม่สามารถทำได้อย่างถูกต้องในข้อไดข้อหนึ่ง จงพยายามหมั่นฝึกฝนให้บ่อยครั้งในหัวข้อนั้นๆ จนกว่าท่านจะมีความรู้สึกว่าทำได้อย่างคล่องแคล่ว และถูกต้องแล้ว


หลักพื้นฐานการขับขี่ปลอดภัย  10  ประการ

 

1.      คิดจะดื่มอย่าขี่  คิดจะขี่อย่าดื่ม  “เมาไม่ขี่”

2.      สวมหมวกกันน็อกและล็อกสายรัดคางทุกครั้งขณะขี่

3.      เปิดไฟหน้าเวลากลางวัน เพิ่มจุดสังเกตป้องกันอุบัติเหตุจากรถคันอื่น

4.      ไม่ขี่แซงในที่คับขันอันตราย ไม่ขี่สวนทางหรือข้ามทางวิ่ง

5.      เคารพและปฏิบัติตามกฎจราจร

6.      ไม่ขี่กระชั้นชิดติดรถคันหน้า ไม่ขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนด

7.      หันมองด้านหลัง เช็คความปลอดภัย และให้สัญญาณไฟก่อนออกรถ

8.      ลดความเร็วเมื่อถนนเปียกลื่น ทางโค้ง ทางขรุขระ

9.      เมื่อขี่ผ่านทางแยกควรหยุดรถหรือชะลอความเร็ว

10.  หมั่นตรวจ ระบบยาง ระบบเบรก และระบบไฟส่องสว่าง

 

จากผลการวิจัยของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ของกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์นั้นพบว่าสาเหตุหลักๆ  ของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดถึง 94 เปอร์เซ็นต์ มาจากความผิดพลาดของผู้ขับขี่เอง ซึ่งมีด้วยกัน 6 สาเหตุหลัก คือ

                                   

1.      การเมาแล้วขี่

2.      การแซงในที่คับขัน

3.      การฝ่าฝืนกฎจราจร

4.      การขี่รถจี้ติดคันหน้ามากไป

5.      การขี่รถด้วยความเร็วสูงเกินกำหนด

6.      การไม่เปิดไฟหน้าเวลากลางคืน

 

ศูนย์ฝึกอบรมขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า  ได้นำเอาผลการวิจัยดังกล่าวมากำหนดเป็นหลักพื้นฐานการขับขี่ปลอดภัย 10 ประการ  และกำหนดเป็นหลักสูตรอบรมสำหรับผู้ซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่  ใช้เวลาอบรม 15 นาทีทั้งนี้เพื่อเป็นการเรียนรู้ และป้องกันการเกิดอุบัติภัยทางถนน